กะบะห์ คือ กิบละห์ของมุสลิมในการละหมาด โดยมุสลิมจะต้องผินหน้าไปยังกะบะห์ในขณะที่ทำการละหมาด และเป็นสถานที่ที่ใช้ในการเวียนรอบ(ตอวาฟ)ในระหว่างการประกอบพิธีฮัจย์ และเช่นเดียวกันกะบะห์เป็นบ้านหลังแรกที่ถูกวางมาบนพื้นแผ่นดิน และไม่สามารถพูดถึงมัสยิดฮารอมโดยที่ไม่พูดถึงกะบะห์ได้
ผู้ที่สร้างกะบะห์เป็นคนแรก คือ บรรดามลาอิกะห์ โดยสร้างกะบะห์ขึ้นมาก่อนที่ท่านนบีอาดำจะถูกส่งมายังโลก และกะบะห์ยังมีอีกชื่อเรียกนึงว่า บัยติ้ลฮะรอม (บ้านต้องห้าม) สาเหตุที่เรียกแบบนี้เพราะว่า อัลเลาะห์ตาอาลาทรงห้ามทำการทะเลาวิวาท สู้รบ ก่อสงครามในบริเวณพื้นที่นั้น
อัลเลาะห์ตาอาลา ได้สั่งใช้ให้ท่านนบีอิบรอฮีมทำการบูรณะกะบะห์ โดยมีลูกชายของท่านคือท่านนบีอิสมาอีลเป็นผู้ช่วยในการบูรณะครั้งนั้น หลังจากที่ท่านนบีทั้งสองทำการบูรณะกะบะห์เสร็จสิ้นแล้ว อัลเลาะห์ตาอาลาได้สั่งใช้ให้ท่านนบีอิบรอฮีมอนุญาตให้อุมมะห์ของท่านเข้ามาเยี่ยมเยียน ณ สถานที่แห่งนั้น
ภาพกะบะห์ในอดีต ภาพกะบะห์ในปัจจุบัน
เวลาผ่านไป จนถึงยุคสมัยยาฮีรียะห์ (ยุคมืด) กะบะห์นั้นยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนกับในสมัยของท่านนบีอิบรอฮีม ในสมัยยุคสมัยนี้มีการบูรณะกะบะห์อีกครั้งหนึ่งโดยชาวเผ่ากุเรช โดยเริ่มทำการบูรณะหลังจากปีช้าง 30 ปี เนื่องจากมีไฟไหม้ครั้งยิ่งใหญ่ ที่เป็นผลมาจากหญิงคนหนึ่งจากเผ่ากุเรช ทำการวางเพลิงกะบะห์ ทำให้ตัวกะบะห์เกิดความอ่อนแอ หลังจากนั้นเกิดฝนตกหนักขึ้น ทำให้ส่วนต่างๆของกะบะห์นั้นเสียหาย หลังจากที่ทำการบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการถกเถียงกันว่า เผ่าใดจะเป็นผู้ที่ยกหินดำไว้ตำแหน่งเดิม จนกระทั่งเกือบที่จะทำสงครามกัน หลังจากนั้นพวกเขาได้ตกลงกันว่า ใครที่ผ่านมาเป็นคนแรกจะให้คนนั้นเป็นคนตัดสินปัญหาระหว่างพวกเขา ท่านนบีมูฮัมมัดมาถึงสถานนั้นเป็นคนแรก ท่านนบีได้ตัดสินปัญหาระหว่างพวกเขาโดยที่ให้พวกเขาวางหินดำบนผ้าผืนหนึ่ง แล้วให้แต่ละเผ่าจับผ้าคนละมุม ต่อมาท่านนบีเป็นผู้ที่วางหินดำไว้ยังตำแหน่งเดิมของมัน ดังนั้นปัญหาต่างๆของพวกเขาก็ถูกคลี่คลายออกไป